ประวัติ ของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นโอรสของหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน กับหม่อมสุดใจ นวรัตน์ ณ อยุธยา และเป็นพระนัดดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ กับหม่อมนุ่ม นวรัตน ณ อยุธยา (สกุลเดิม อภัยกุล) ได้รับการอบรมแบบทหารภายใต้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ภายหลังจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ย้ายไปเป็นนักบินขับไล่ประจำการ ณ สนามบินโคกกระเทียม เมื่ออายุ 25 ปี ขณะดำรงยศนายเรืออากาศโท ต้องออกจากราชการด้วยกรณีศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พิพากษาให้จำคุก 9 ปี ในคดีกบฏบวรเดช

ในระหว่างต้องโทษได้เริ่มศึกษาการเมืองโดยการอ่านตำราจากต่างประเทศของผู้ร่วมชะตากรรมในเรือนจำกลางบางขวาง และเขียนหนังสือขึ้น เริ่มเขียนตำราด้วยลายมือลงในสมุด ลักลอบเวียนกันอ่านในหมู่นักโทษการเมืองในชื่อวารสาร “น้ำเงินแท้” และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ้าง ก่อนที่นักโทษด้วยกันจะขอร้องให้เลิกเพราะกลัวถูกจับได้และจะถูกเพิ่มโทษ แต่ก็ยังคงเขียนต่อไปจนถืงกับส่งบทความออกมาลงหนังสือพิมพ์ภายนอก หลังถูกจองจำอยู่ 5 จึงปีได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อเป็นพ้นโทษแล้วได้เขียนเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” แต่ถูกสันติบาลยึดไปจากโรงพิมพ์ทั้งหมดก่อนวางตลาด เพราะการมีพรรคการเมืองในสมัยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้เป็นอิสระอยู่ได้ไม่นานก็ถูกสันติบาลจับกุมตัวในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล จากสาเหตุที่สันติบาลไปค้นวังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต แล้วเจอหนังสือกราบทูลของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ด้วยสำนึกในพระกรุณาของทูลกระหม่อมพระบิดาของพระองค์หญิง ที่ได้ชุบเลี้ยงตนมาว่า เมื่อออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระ โอกาสที่จะเอาตัวออกรองฉลองพระบาทคงมีบ้าง ซึ่งสันติบาลตีความว่า โอกาสดังกล่าวคือ โอกาสที่จะคิดแก้แค้นรัฐบาล ในที่สุดศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 ได้ตัดสินโทษ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ว่าเป็นกบฏและให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะถูกจองจำอยู่นั้น ได้ลอบแต่งหนังสือ "เมืองนิมิตร" ขึ้น โดยให้ชื่อในขณะนั้นว่า “ความฝันของนักอุดมคติ” ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ และตกถึงมือสันติบาลอีก ซึ่งมีผลทำให้ถึงกับต้องโทษเนรเทศไปอยู่เกาะเต่าถึง 3 ปี รัฐบาลใหม่ของควง อภัยวงศ์ จึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2488 พระราชทานนิรโทษกรรมให้กลับเข้าในราชการรับบำเหน็จบำนาญสังกัดบัญชาการกองทัพไทย ตามเดิม

ในปี พ.ศ. 2490 ได้ทำการสมรสกับ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา จ.จ. (สกุลเดิม สังขดุลย์ ธิดาพระพิจิตรจำนง (แจง สังขดุลย์) กับ นางพิจิตรจำนง (ยิ่ง สังขดุลย์) มีพี่ชายร่วมบิดา มารดา ได้แก่ พลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ อดีตทหารผ่านศึกยุทธนาวีเกาะช้าง) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระตำหนัก ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2490 แต่เนื่องจากสังขารที่กรอบเกรียมจากวัณโรคและมาลาเรียครั้งทนทุกข์ทรมานอยู่ ณ เกาะเต่า หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงต่อหน้ามารดาและภรรยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2491 ก่อนที่ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน บุตรชายคนเดียวจะเกิดเพียง 45 วัน เท่านั้น สิริรวมอายุได้ 39 ปี 11 เดือน 20 วัน